ตำนานเรื่องท้าวแสนปม
พื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน นอกจากเคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ เช่น ชากังราว นครชุม ยังมีอีกเมืองหนึ่งคือเมืองไตรตรึงษ์ ชื่อเมืองไตรตรึงษ์ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๓๘ เรียกว่าศิลาจารึก กล่าวไว้ว่า พระเจ้าไชยศิริเชียงแสนหนีพม่ามาจากเชียงราย เป็นผู้สร้างเมืองไตรตรึงษ์ เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๕๐๐ จากซากกำแพงเมืองที่ยังปรากฏเห็น พบว่าตัวเมืองไตรตรึงษ์เป็นรูปสี่เหลี่ยม ผืนผ้าขนานกับแม่น้ำปิง ขนาดกว้างประมาณ ๔๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร มีทางเข้าสู่เมือง ๒ ทางภายในกำแพงเมืองมีโบราณสถานทางศาสนาหลายแห่ง วัดสำคัญในกำแพงเมืองมี ๒ วัด คือวัดเจ็ดยอด และวัดพระปรางค์ ภายนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้มีวัดขนาดใหญ่เรียกว่า วัดวังพระธาตุ ที่วัดนี้มีเจดีย์ทรงไทยหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นเจดีย์หลัก รอบๆ มีเจดีย์รายทั้ง ๕ ทิศ ขุดค้นทางโบราณคดีพบลูกปัดหินสีภายในบริเวณวัด ตะเกียงโบราณแบบโรมัน และชิ้นเครื่องเคลือบลายครามขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป ทุกวันนี้เมืองไตรตรึงษ์อยู่ที่บ้านวังพระธาตุ ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ไตรตรึงษ์ยังมีตำนานเล่าขาน ที่อิงกับประวัติศาสตร์ถึงกำเนิดของอาณาจักรอยุธยา นั่นคือตำนานเรื่อง 'ท้าวแสนปม'เรื่องราวโดยย่อมีว่า เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ มีพระธิดาผู้ทรงสิริโฉม และที่ใกล้เมืองไตรตรึงษ์นี้มีชายคนหนึ่งซึ่งร่างกายเต็มไปด้วยปุ่มปม ชาวบ้านเรียกเขาว่า แสนปม มีอาชีพปลูกผัก มาวันหนึ่งเทวดาดลใจให้พระธิดานึกอยากเสวยมะเขือ นางข้าหลวงพบมะเขือในสวนของแสนปมลูกใหญ่อวบ จึงซื้อไปถวาย หลังจากพระราชธิดาเสวยมะเขือของแสนปมได้ไม่นานก็เกิดตั้งครรภ์ขึ้น ท้าวไตรตรึงษ์รู้สึกอับอายขายหน้า พยายามสอบถามอย่างไรพระธิดาก็ไม่ยอมบอกว่าใครคือพ่อของเด็ก ครั้นเมื่อพระกุมารเติบโตพอรู้ความ ท้าวไตรตรึงษ์จึงประกาศให้ขุนนางและเหล่าราษฎรทั้งหลายนำของกินเข้ามาในวัง หากพระกุมารยอมกินของผู้ใดผู้นั้นจะได้เป็นเขยหลวง บรรดาผู้ชายทุกคน พากันมาเสี่ยงทายเป็นบิดาของพระราชโอรส แต่พระราชโอรสไม่ได้คลานไปหาใครเลย เจ้าเมืองจึงให้เสนาไปตามแสนปม ซึ่งยังไม่ได้มาเสี่ยงทาย แสนปมจึงมาเข้าเฝ้า พร้อมทั้งถือก้อนข้าวเย็นมา ๑ ก้อน เมื่อมาถึงจึงอธิษฐาน และยื่นก้อนข้าวเย็นให้ พระราชโอรสก็คลานเข้ามาหา ท้าวไตรตรึงษ์ทรงกริ้ว ที่พระธิดาไปได้กับคนชั้นไพร่อัปลักษณ์ จึงขับไล่ออกจากวัง แสนปมพาพระธิดากับพระกุมารเดินทางเข้าไปหาที่อยู่ใหม่ ร้อนถึงพระอินทร์ต้องแปลงเป็นลิงนำกลองวิเศษมามอบให้ กลองนี้อยากได้อะไรก็ตีเอาตามได้ดังสารพัดนึก แสนปมอธิษฐานให้ปุ่มปมตามตัวหายไปแล้วตีกลองวิเศษ ร่างก็กลับเป็นชายรูปงาม จึงตีกลองขอบ้านเมืองขึ้นมาเมืองหนึ่ง ให้ชื่อว่า เมืองเทพนคร และสถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าท้าวแสนปม ปกครองไพร่ฟ้าด้วยความสงบสุข ท้าวแสนปมใช้ทองคำมาทำเป็นอู่(เปล)ให้พระโอรส และตั้งชื่อพระโอรสว่า 'อู่ทอง' ต่อมาพระเจ้าอู่ทองจึงย้ายเมืองมาสร้างกรุงศรีอยุธยา จากความเชื่อมโยงดังกล่าว ทำให้นักประวัติศาสตร์บางท่าน เรียกชื่อราชวงศ์อู่ทอง อีกชื่อว่าราชวงศ์เชียงราย
ละเว้นจากเรื่องราวในตำนาน ปัจจุบันแนวคิดที่ว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นเชื้อสายราชวงศ์เชียงราย ยังคงเป็นหนึ่งในหลายแนวคิดเรื่องที่มาของพระองค์ และก็ยังไม่ถูกตัดออกไป จึงพอจะอนุมานได้ทางหนึ่งว่า เมืองไตรตรึงษ์คือต้นทางแห่งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
ตำนานของนครไตรตรึงษ์ อีกเรื่องหนึ่ง เล่าว่า เจ้านครองค์นี้มีพระธิดา นามว่า อุษา มีรูปโฉมงดงามร่ำลือไปถึงเมืองศิริไชยเชียงแสน เจ้าชายชินเสนจึงปลอมตนเป็นชายอัปลักษณ์ เนื้อตัวมีปุ่มปมขึ้นเต็มไปหมด แล้วเข้าไปขออาศัยอยู่กับตายายที่เฝ้าอุทยานท้ายวังนครไตรตรึงษ์ได้ชื่อเรียกว่า "แสนปม" วันหนึ่งนางอุษาออกมาชมสวน แสนปมแอบมาดูนางแล้วเกิดความรักจึงนำผักที่ปลูกไว้ไปถวาย เมื่อนางอุษาเห็นแสนปมก็นึกรักเช่นเดียวกัน จึงให้พี่เลี้ยงนำหมากไปให้เป็นของตอบแทน แสนปมได้สลักมะเขือเป็นสารเกี้ยวพาราสีนางแล้วส่งไปถวายอีก นางอุษาก็ตอบสารในทีรับรักใส่ในห่อหมากแล้วฝากมาให้แก่แสนปม แสนปมจึงทราบว่านางก็รักตนเช่นเดียวกัน คืนหนึ่งแสนปมลอบเข้าไปหานางในวัง แล้วทั้งสองก็ได้อยู่ร่วมกันโดยไม่มีใครทราบเรืองจนกระทั่งนางอุษาตั้งครรภ์ ต่อมาแสนปมได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าศิริชยเชียงแสนประชวรหนัก จึงเดินทางกลับบ้านเมืองโดยไม่ทราบว่านางอุษาตั้งครรภ์ เวลาผ่านไปนางอุษาให้กำเนิดกุมารหน้าตาน่ารัก ยังความทุกข์ใจมาให้แก่เจ้านครไตรตรึงษ์ยิ่งนัก เพราะนางอุษาไม่ยอมบอกความจริง เจ้านครไตรตรึงษ์จึงหาวิธีที่จะให้รู้แน่ว่าใครเป็นบิดาของกุมาร จึงป่าวประกาศให้เจ้าเมืองต่างๆ รวมทั้งทวยราษฎร์มาพร้อมกันที่หน้าพระลานพร้อมทั้งให้นำขนมนมเนยติดมือมาด้วย ถ้ากุมารรับขนมจากมือผู้ใดก็ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นบิดาของกุมารและจะได้อภิเษกกับนางอุษาพระชินเสนได้ข่าวก็เตรียมรี้พลมา ตั้งพระทัยจะอภิเษกกับนางอุษาให้ได้ แล้วปลอมตัวเป็นแสนปมพร้อมทั้งนำข้าวเย็นมาก้อนหนึ่งเพื่อให้กุมารเลือก ครั้นถึงเวลาที่กำหนดจึงให้กุมารเลือกขนมจากบรรดาผู้ที่นำมา ปรากฎว่ากุมารรับข้าวเย็นจากแสนปมไปเคี้ยวกินอย่างเอร็ดอร่อย ท้าวไตรตรึงษ์รู้สึกอับอายอย่างมากด้วยความโกรธจึงขับไล่นางอุษาออกจากเมืองโดยทันที แสนปมจึงแสดงตนให้รู้ว่าตนเองคือ พระชินเสน แล้วพานางอุษาและกุมารเดินทางกลับอาณาจักรศิริไชยเชียงแสนและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขกุมารองค์นี้กล่าวว่ามีผู้นำอู่ทองคำมาถวาย จึงได้นามว่าอู่ทอง ต่อมาได้สร้างเมืองทวารวดีศรีอยุธยา และขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา บริเวณวัดวังพระธาตุ ด้านหน้าวัดมีศาลของท้าวแสนปมและในบริเวณวัด มีรูปปั้นท้าวแสนปม ที่คนทั่วไปให้ความเคารพนับถือ ในฐานะเป็นตำนานของท้าวแสนปม ผู้สร้างเมืองเทพนคร ฝั่งตรงกันข้ามกับนครไตรตรึงษ์ มีตำนานเล่าขานกันมาช้านาน
นอกจากคำเล่าขานของชาวบ้านแล้ว ท้าวแสนปมตามตำนานในต้นพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ว่าในจุลศักราช ๖๘๑ พ.ศ. ๑๘๖๒ ท้าวแสนปม ได้ไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองเทพนครและขึ้นครองราชย์สมบัติในเมืองเทพนคร ทรงพระนามว่าพระเจ้าสิริชัยเชียงแสนครองราชย์สมบัติ ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๐๖ พ.ศ. ๑๘๘๗ ทรงมีพระราชโอรสทรงพระนามว่าพระเจ้าอู่ทองได้ชื่อเช่นนี้เพราะ เพราะพระราชบิดานำทองคำมาทำเป็นอู่ให้นอน จึงขนานนามพระองค์ว่าพระเจ้าอู่ทอง ภายหลังพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงและทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่๑